บทความ CE Mark : เครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของ EU

บทความ CE Mark : เครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของ EU

CE MARK

CE Mark หรือ Conformite European Mark เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (European Union : EU) ทั้งสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตใน EU มีการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามระเบียบข้อบังคับที่ EU กำหนด ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคใน EU ถึงความปลอดภัยในการใช้สินค้าและลดผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าของประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน EU เริ่มบังคับใช้เครื่องหมาย CE มาตั้งแต่ปี 2536 โดยกำหนดให้สินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภทที่จำหน่ายใน EU ต้องติดเครื่องหมาย CE ครอบคลุมตั้งแต่ของเด็กเล่นเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ลิฟต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง วิทยุและอุปกรณ์สื่อสาร และหม้อน้ำร้อน เป็นต้น
ขั้นตอนการขออนุญาตติดเครื่องหมาย CE บนสินค้าอุตสาหกรรม มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
• ตรวจสอบระเบียบข้อบังคับ (Directives) และมาตรฐานสินค้า (Harmonized Standards)
เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ปัจจุบันระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กำหนดมีกว่า 20 ฉบับ แต่ละฉบับแสดงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ ของสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐานสินค้าของ EU อาทิ European Committee for Standardization และEuropean Committee for Electrotechnical Standardization ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกไปยัง EUจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานของสินค้าที่ตนผลิตอย่างใกล้ชิด เนื่องจากระเบียบและมาตรฐานดังกล่าวอาจมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
• การทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่ EU กำหนด ทั้งนี้ ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของสินค้าด้วยตนเองหากสินค้ามีความเสี่ยงน้อยในการใช้งาน แต่หากสินค้ามีความเสี่ยงสูงในการใช้งาน ผู้ผลิตต้องให้หน่วยงานตรวจสอบอิสระ (Notified Body) ที่ผ่านการรับรองจาก
คณะกรรมาธิการยุโรป (ปัจจุบันมีเกือบ 1,000 แห่งใน EU แต่ยังไม่มีในประเทศไทย) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความปลอดภัย
• จัดทำแฟ้มข้อมูลด้านเทคนิค (Technical File) ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนจำหน่ายต้องจัดทำแฟ้มข้อมูลทางเทคนิค เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อมีการเรียกตรวจสอบ ทั้งนี้ แฟ้มข้อมูลด้านเทคนิคต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ลักษณะและประเภทของสินค้า ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการผลิต วิธีประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินค้า มาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบรายงานผลการตรวจสอบ และคู่มือการใช้งาน
• จัดทำใบรับรอง (Declaration of Confirmity) ผู้ผลิต ผูน้ ำเขา้ หรือตัวแทนจำหนา่ยตอ้ งจัดทำใบรับรองเพื่อแสดงว่าสินค้าได้มาตรฐานความปลอดภัยตามที่ EU กำหนด โดยระบุรายละเอียดต่าง ๆ คือ ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายใน EU ลักษณะของสินค้า ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า มาตรฐานที่ใช้ในการตรวจสอบ ชื่อหน่วยงานตรวจสอบอิสระที่เป็นผู้ทดสอบสินค้า วันที่ออกใบรับรอง และลายมือชื่อผู้มีอำนาจของบริษัทผู้ผลิตส่วนวิเคราะห์ธุรกิจ
• ติดเครื่องหมาย CE ผู้ผลิตจะติดเครื่องหมาย CE บนตัวสินค้าหรือบนบรรจุภัณฑ์ได้ก็ต่อเมื่อสินค้าของตนผ่านการทดสอบและมีมาตรฐานตามที่ EU กำหนด ทั้งนี้ เครื่องหมาย CE ที่ติดบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ต้องมีความคงทนถาวรและมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร เพื่อให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
แม้ว่าการติดเครื่องหมาย CE ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานที่ EU กำหนด ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างหน่วยงานตรวจสอบอิสระเพื่อทดสอบความปลอดภัยของสินค้า อย่างไรก็ตาม เครื่องหมาย CE นับเป็นใบเบิกทางสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดอุปสรรคทางการค้ากับ EU และยังสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างเสรีภายในกลุ่ม EU โดยที่แต่ละประเทศไม่สามารถนำมาตรฐานสินค้าของตนมากีดกันสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกจากประเทศไทยได้

ขอบคุณที่มา: http://www.exim.go.th/doc/research/article/CE%20Mark.pdf

picture credit: https://globig.co/blog/tips-for-ce-marking-your-products-when-expanding-globally/

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *